จับตา “เงินเฟ้อสหรัฐฯ-ประชุมอีซีบี” ปัจจัยหนุนเงินบาทอ่อนค่า

April 11, 2022 News Comments Off on จับตา “เงินเฟ้อสหรัฐฯ-ประชุมอีซีบี” ปัจจัยหนุนเงินบาทอ่อนค่า

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่า 33.30-33.80 บาทต่อดอลลาร์ เกาะติดตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ-ประชุมอีซีบี-เลือกตั้งฝรั่งเศส” คาดกระแสเงินทุนไหลเข้าสลับซื้อ-ขาย หลังไทยเข้าสู่ช่วงวันหยุดสงกรานต์

วันที่ 10 เมษายน 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 11-15 เมษายน 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.30-33.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม จะเป็นตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมีนาคมของสหรัฐฯ ที่มีการคาดการณ์ว่าจะสูงกว่าระดับ 8% ซึ่งหากตัวเลขออกมาตามคาดจะเป็นการยืนยันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ในระดับ 0.50%

และตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนมีนาคมของสหรัฐฯ ซึ่งหากยังขยายตัวได้ดี สะท้อนว่าไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายนอาจเห็นแนวโน้มลดลงเล็กน้อย ตลอดจนตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะกลาง 5 ปี ซึ่งคล้ายกับไทย หากตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ออกมาห่างกว่า 3% จะทำให้ตลาดมีความผันผวนได้

นอกจากนี้ ในฝั่งยุโรปจะติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ว่าที่ประชุมจะมีความกังวลต่อสถานการณ์รัสเซียและยูเครนที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร รวมถึงการเลือกตั้งในฝรั่งเศสที่คะแนนมีความสูสีกันระหว่างนายเอ็มมานูเอล มาครง และนางมารีน เลอ เปน ซึ่งมีคะแนนเสียงห่างกันแค่ 3% โดยต้องติดตามการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 เมษายนนี้

“ภาพสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังเป็นอะไรที่ต้องติดตามใกล้ชิด ว่าจะมีการถอนทัพเพื่อจัดกระบวนทัพใหม่หรือไม่ และการแซงก์ชั่นจะมีต่อไปหรือไม่ รวมถึงก็มีความเสี่ยงการเลือกตั้งของฝรั่งเศสที่เราต้องติดตาม ซึ่งหากนางเลอ เปน ได้ซึ่งเป็นสายที่ไม่ได้เอา NATO อาจจะเปลี่ยนตลาดได้ ค่าเงินยูโรอาจลงได้”

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์ผ่านมา 4-8 เมษายน พบว่า ตลาดหุ้นซื้อสุทธิ 1,900 ล้านบาท หลังดัชนี SET ขึ้นไปแตะระดับ 1,700 จุด อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นเริ่มเห็นนักลงทุนทยอยขายเพื่อทำกำไร (take profit) โดยแนวโน้มตลาดสัปดาห์ยังคงเห็นนักลงทุนซื้อและสลับขายแต่ไม่รุนแรงนัก

ขณะที่ตลาดพันธบัตร (บอนด์) ซื้อสุทธิ 8,500 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เข้ามาในตลาดบอนด์สั้น ซึ่งมองว่าเป็นการทำธุรกรรมเก็งกำไรค่าเงินบาท รวมถึงมีการเข้าซื้อบอนด์ยาว โดยคาดว่าสัปดาห์อาจจะเห็นเงินไหลเข้าบ้างประมาณ 5,000 ล้านบาทได้ ส่วนหนึ่งมีวันหยุดค่อนข้างเยอะ และไม่มีสัญญาณเล่นตลาดบอนด์สั้นเพื่อเก็งกำไรค่าเงินแล้ว

“ตลาดบ้านเราในสัปดาห์ อาจะเห็นการเหวี่ยงมากหน่อย เพราะตลาดมีธุรกรรมค่อนข้างบาง เพราะเป็นช่วง holiday mood”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 33.40-33.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่า +8.4% เมื่อเทียบปีต่อปี รวมถึงยอดค้าปลีกสหรัฐฯ และผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (บอนด์ยิลด์) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ตลอดจนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีน

ทั้งนี้ คาดธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ยังคงนโยบายในการประชุมวันที่ 14 เม.ย.นี้ แต่อาจส่งสัญญาณที่แข็งกร้าวมากขึ้นต่อการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ โดยปริมาณธุรกรรมและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายอาจซบเซาก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ของไทย

“บาทอ่อนค่าในเดือนนี้จากบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นและการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้”

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance